คนที่มีสุขภาพดี จิตใจเข้มแข็ง หนักแน่น สามารถจดจ่อกับการคิดหรือทำสิ่งใดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมทำอะไรได้ดีกว่าได้เปรียบกว่า มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่สุขภาพแย่ จิตใจอ่อนแอ ท้อแท้ง่าย ทำงานได้ประสิทธิภาพต่ำ
ข่าวดีก็คือ เรื่องต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพจิตใจ สุขภาพ วิธีคิดและทำสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องที่สามารถพัฒนายกระดับได้จากการฝึกสมาธิ และนอกจากการฝึกสมาธิจะส่งผลดีต่อตนเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์กับบุคคลใกล้ชิด รวมถึงคนหมู่มากระดับประเทศได้อีกด้วย
ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ
1.ประโยชน์ต่อตนเอง
ด้านสุขภาพจิต(ภายใน) - ทำให้คุณภาพของใจดีขึ้น คือ ทำให้จิตใจผ่องใส สงบเยือกเย็น หนักแน่น มีความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่เครียดง่าย มีความจำและสติปัญญาดีขึ้น ทำอะไรคิดอะไรได้รวดเร็ว ถูกต้อง
ด้านสุขภาพกาย(ภายนอก) - ช่วยเสริมให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะร่างกายกับจิตใจย่อมมีอิทธิพลต่อกัน ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ย่อมเป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว มีบุคลิกภาพดี มีความองอาจสง่าผ่าเผย เชื่อมั่นในตนเอง กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า มีผิวพรรณผ่องใส มีมนุษยสัมพันธ์ดี วางตัวได้เหมาะสมกับเทศกาลเทศะเป็นผู้มีเสน่ห์ เพราะไม่มักโกรธ มีความเมตตากรุณาต่อบุคคลทั่วไป และเนื่องจากจิตใจดี ทำให้ความประพฤติทางกายและวาจาดีตามไปด้วย
2.ประโยชน์ต่อครอบครัว
ทำให้ครอบครัวมีความสงบสุข มีเมตตาต่อกัน ทุกคนมีความรักใคร่สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นผู้มีจิตใจหนักแน่นเมื่อมีปัญหาครอบครัวหรือมีอุปสรรคย่อมร่วมใจกันแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ลุล่วงไปได้
3.ประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
ทำให้สังคมสงบสุข ปราศจากปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคมสังคมอื่นๆ เพราะปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ว่าจะเป็นปัญหาการฆ่า ปล้น ข่มขืน โจรผู้ร้าย การทุจริตคอรัปชั่น ล้วนเกิดขึ้นมาจากคนที่ขาดคุณธรรม เป็นผู้มีจิตใจอ่อนแอ หวั่นไหวต่ออำนาจสิ่งยั่วยวน หรือกิเลสได้ง่าย ผู้ที่ฝึกสมาธิย่อมมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีคุณธรรมในใจสูง ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้สังคมสงบสุข
วิธีการฝึกสมาธิอย่างง่าย สำหรับผู้เริ่มต้น
- นั่งหลังตรงบนเบาะหรือเก้าอี้ การนั่งตัวตรงจะช่วยเพ่งลมหายใจเข้าและออก ถ้านั่งเก้าอี้อย่าพิงหลัง หรือนั่งหลังงอ นั่งตัวตรงไว้เท่าที่จะทำได้ วางขาในท่าที่สะดวก ยืดขามาข้างหน้า หรือไขว้ขาทับไว้เหมือนขนมเพรทเซลก็ได้ ถ้านั่งกับพื้นโดยใช้เบาะ สิ่งที่สำคัญคือต้องนั่งตัวตรง
- อย่ากังวลเรื่องการวางมือ จะวางมือทับกัน ประสานมือไว้ที่ตัก วางหงายหรือคว่ำไว้ที่หัวเข่า ปล่อยไว้ข้างลำตัว แบบไหนก็ได้ขอให้สะดวกพอที่จะทำให้จิตใจผ่อนคลายและเพ่งที่ลมหายใจ
- ตั้งศีรษะเหมือนกับกำลังก้มหน้า ถึงแม้ผู้คนมากมายมองว่าการหลับตาจะช่วยปิดกั้นสิ่งรบทางกวนสายตาได้ง่ายกว่า แต่ในการนั่งสมาธิจะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ ให้ตั้งศีรษะเหมือนกับกำลังก้มหน้า จะช่วยเปิดช่องอกทำให้หายใจสะดวก
- ตั้งเวลา เมื่ออยู่ในท่าที่สะดวกและพร้อมที่จะเริ่มทำสมาธิ ตั้งเวลาว่าอยากทำสมาธินานแค่ไหน สัปดาห์แรกอย่ากดดันทำสมาธิเกินกำลังตนเองถึงหนึ่งชั่วโมง เริ่มต้นทำสมาธิสัก 3-5 นาที และค่อยเพิ่มเป็นครึ่งชั่วโมง หรือจะนานกว่านั้นก็ได้
- ปิดปากให้สนิทตอนหายใจ สูดลมหายใจเข้าและปล่อยลมหายใจออกทางจมูกตอนทำสมาธิ ถึงแม้ต้องปิดปากให้สนิท แต่ต้องไม่เกร็งกล้ามเนื้อขากรรไกร อย่าขบฟันหรือกัดฟัน จะได้รู้สึกผ่อนคลาย
- จดจ่อที่ลมหายใจ นี้คือการทำสมาธิ ลอง“ไม่”คิดเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ทำให้เครียด และจดจ่อสิ่งที่อยู่กับเรามาตลอดนั้นคือ ลมหายใจ จดจ่อที่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก (อาจใช้คำบริกรรมช่วยจับลมหายใจ เช่น เมื่อหายใจเข้าให้นึกในใจว่าพุท-เมื่อหายใจออกให้นึกในใจว่าโธ) แล้วจะพบว่าความคิดจากโลกภายนอกจะค่อยๆจาง หายไปเอง โดยไม่ต้องกังวลหาวิธีการปล่อยวางเรื่องเหล่านี้
- สังเกตลมหายใจแต่ไม่ต้องถึงกับพินิจพิเคราะห์ เป้าหมายคืออยู่กับลมหายใจแต่ละครั้ง ลมหายใจเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ต้องวุ่นวายจดจำความรู้สึกของตน หรืออธิบายสิ่งที่พบเจอภายหลัง แค่รับรู้ถึงลมหายใจแต่ละครั้งในชั่วขณะนั้น เมื่อผ่านไปแล้ว ให้รับรู้ถึงลมหายใจครั้งต่อไป อย่าให้จิตใจคิดถึงเรื่องการหายใจ แค่รับรู้ผ่านประสาทสัมผัสเท่านั้นก็พอ
- พาจิตใจให้กลับมาจดจ่อที่ลมหายใจถ้าจิตใจเตลิดไปคิดเรื่องอื่น ถึงแม้จะทำสมาธิมามาก แต่จิตใจก็อาจเตลิดไปได้บ้าง จะเริ่มคิดถึงเรื่องงาน เรื่องค่าใช้จ่าย หรือกิจธุระที่ต้องไปทำภายหลัง เมื่อไรที่สังเกตเห็นว่าโลกภายนอกเริ่มเข้ามารบกวน อย่ากังวลและพยายามไม่สนใจ ให้ค่อยๆ ดึงตัวเองกลับมารู้สึกถึงลมหายใจแทน และปล่อยให้ความคิดเรื่องอื่นจางหายไปอีกครั้ง
- อย่าฝืนตัวเองจนเกินไป ให้ยอมรับว่าการจดจ่อนั้นยากตอนเริ่มต้น อย่าตำหนิตัวเอง เพราะผู้เริ่มต้นทุกคนต้องพบเสียงพูดไปเรื่อยเปื่อยในใจกันทั้งนั้น บางคนพูดว่าจริงๆ แล้ว การกลับคืนสู่ปัจจุบันอยู่เรื่อยๆ เป็นการ “ฝึก”สมาธิ ยิ่งกว่านั้นอย่าคาดหวังว่าการฝึกสมาธิจะเปลี่ยนชีวิตได้ชั่วข้ามคืน การตั้งสติต้องใช้เวลาถึงจะเห็นผล หมั่นทำสมาธิทุกวัน อย่างน้อยวันละสองสามนาที แล้วค่อยเพิ่มเวลาถ้าเป็นไปได้
อ้างอิงจาก
Tag: ประโยชน์-การฝึกสมาธิ
การฝึกสมาธิ
การนั่งสมาธิ